วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ป.ต.ท.เผยการโอนท่อก๊าซ่ต้องใช้เวลากว่า 3 เดือน


วันนี้ (17 ธ.ค.) นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยความคืบหน้าการโอนทรัพย์สินที่ดิน ท่อก๊าซ และท่อน่ำมัน ภายหลังเข้าหารือกับกระทรวงการคลัง โดยระบุว่า ในการเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันพรุ่งนี้ จะเป็นเพียงหลักเกณฑ์การโอนท่อก๊าซ ทั้งการประเมินราคาสินทรัพย์ ค่าเช่าท่อ และอื่นๆ หลังจากนั้น คาดว่า จะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน จึงจะโอนเสร็จสิ้น ซึ่งในรายละเอียดการโอนจะต้องมีฝ่ายกฎหมายของรัฐ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เข้ามาดูรายละเอียดด้วย

ดังนั้น เมื่อการปรับโอนต้องใช้ระยะเวลายาวนาน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) จึงไม่สามารถห้ามการซื้อขายหุ้นบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือขึ้นเครื่องหมาย SP หุ้น ปตท.เป็นเวลานานได้ เพราะจะกระทบต่อบรรยากาศของตลาดหุ้น และผู้ถือหุ้นทั้ง 11 ล้านคน รวมถึงกองทุนรวมต่างๆ ที่ไม่สามารถกำหนดมูลค่าขายคืนหน่วยลงทุนได้ด้วย โดยคาดว่า บ่ายวันพรุ่งนี้ ตลท.จะต้องปลดเครื่องหมาย SP ลงได้

ส่วนเรื่องค่าเช่าท่อก๊าซ ทางกรมธนารักษ์ จะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ เหมือนกับการคิดค่าเช่าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และท่าอากาศยานไทย ที่คิดประมาณร้อยละ 2-5 มูลค่ารายได้ต่อปี

นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงแนวทางการแยกท่อก๊าซและที่ดินเวนคืนตามแนวท่อของ ปตท.เพื่อให้กระทรวงการคลังเข้ามาดูแลนั้น เรื่องดังกล่าวต้องหารือกับกระทรวงพลังงานให้ชัดเจน จากนั้นจึงจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาเกี่ยวกับขั้นตอน วิธีการต่างๆ ในวันอังคารที่ 18 .ค.นี้

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ได้เตรียมช่องทางในการดำเนินการไว้เรียบร้อยแล้ว สำหรับการดำเนินการตามที่ศาลปกครองพิพากษา จะกระทบต่อรัฐวิสาหกิจรายอื่นที่ได้ทำการแปรรูปไปแล้วหรือไม่นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า ต้องรอการพิจารณาเรื่อง ปตท.จากที่ประชุมให้ชัดเจนก่อน

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.กล่าวว่า ปตท.ยืนยันจะปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยเคร่งครัด แต่ไม่สามารถปฏิบัติเกินเลยนอกเหนือจากคำพิพากษาของศาลได้ เพราะจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นจำนวนเกือบ 11 ล้านคน

นายประเสริฐ ระบุถึงขั้นการโอนทรัพย์สินที่สำคัญนอกเหนือไปจากคำพิพากษาของศาล ปตท.จะต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้น ตาม พ.ร.บ. บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 และกฎเกณฑ์ของ ตลท.และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปตท.จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ถือหุ้นกู้และเจ้าหนี้เงินกู้ มิฉะนั้น จะถือเป็นเหตุผิดนัดและผิดสัญญากับหนี้ของ ปตท.สำหรับในเรื่องอำนาจมหาชนของรัฐนั้น ปัจจุบัน ปตท.ไม่มีอำนาจนี้อยู่แล้ว

ทั้งนี้ ทรัพย์สินตามคำพิพากษาที่ ปตท.ต้องโอนให้กระทรวงการคลังเป็นทรัพย์สินที่ได้ เนื่องจากการปิโตรเลียมฯ ใช้อำนาจมหาชนเหนือที่ดินของเอกชน และได้จ่ายค่าทดแทนโดยใช้เงินทุนของรัฐ ได้แก่ ที่ดินเวนคืน 32 ไร่ ที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย โอนให้กับ ปตท.

สิทธิการใช้ที่ดินของเอกชนเพื่อการวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ ที่การปิโตรเลียมฯ โอนให้กับ ปตท.และทรัพย์สินระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ประกอบด้วย ท่อส่งก๊าซ รวมทั้งวัสดุ และอุปกรณ์ที่ประกอบเป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติอันเกิดจากการใช้อำนาจมหาชนเหนือที่ดินของเอกชน เพื่อวางระบบดังกล่าว ในขณะที่เป็นการปิโตรเลียมฯ และได้จ่ายเงินค่าทดแทน โดยอาศัยทรัพย์สินของรัฐ ซึ่งการปิโตรเลียมฯ ได้โอนแก่ ปตท.

สำหรับทรัพย์สินที่ ปตท.ได้มาโดยมิได้ใช้อำนาจมหาชน แต่ได้มาโดยวิธีการอื่น เช่น การซื้อ จัดหา หรือแลกเปลี่ยน ตามมาตรา 7(1) แห่งพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 นั้น ไม่ถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และไม่ถือเป็นที่ราชพัสดุ

นายประเสริฐ ระบุว่า ทรัพย์สินที่ต้องโอนกลับคืนไปให้รัฐบาลน่าจะมีมูลค่าไม่ถึงหลักแสนล้านบาท

อนึ่ง ศาลได้วินิจฉัยว่า ให้ ปตท.ยังคงมีสิทธิในการใช้ที่ราชพัสดุหรือสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ ปตท.เคยมีอยู่ต่อไป โดยต้องจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายได้แผ่นดินตามที่กระทรวงการคลังกำหนด อย่างไรก็ตามเพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย การคิดค่าตอบแทนฯ ต้องคำนึงถึงภาระหนี้สินที่ ปตท.ได้กู้ยืมมาใช้ในการก่อสร้างระบบท่อส่งก๊าซดังกล่าวด้วย

นายประเสริฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปตท.น้อมรับคำสั่งศาลให้โอนทรัพย์สินคืนให้กับรัฐ และพร้อมจะรับภาระภาษีจากการโอนทรัพย์สินและจ่ายค่าเช่าย้อนหลังไปถึงปี 2544 ในช่วงหลังการแปรรูปจนถึงปัจจุบัน แต่ที่ผ่านมาผู้ที่เกี่ยวข้องไม่มีใครพูดถึงภาระหนี้สินที่เกิดจากการลงทุนสร้างท่อก๊าซที่ ปตท.ต้องแบกรับอยู่ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรจะต้องเข้ามาพิจารณาในเรื่องนี้ด้วย

“ค่าเช่าและภาษีไม่ใช่ประเด็น เพราะ ปตท.พร้อมจะจ่าย แต่ภาระหนี้ทีเกิดจากการสร้างท่อก๊าซ ไม่มีผู้ใดที่จะช่วยรับผิดชอบกับ ปตท.มีแต่บอกให้โอนท่อก๊าซคืน แต่ภาระหนี้สินยังอยู่กับ ปตท.ซึ่งเจ้าหนี้ก็ต้องเรียกคืนหนี้อยู่ดี ไม่มีใครรับโอนหนี้จากเรา ภาระตรงนี้ยังคงเป็นของปตท.จะให้แบกรับหนี้ตรงนี้คนเดียวหรือไม่” นายประเสริฐ กล่าวทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น: